กอล์ฟ-สาระน่ารู้

 

ฝึกอ่านกรีนด้วยตัวเองดีกว่า
ก่อนหน้านี้ช่วงชิวิตที่อยู่ในสหรัฐอเมริกา เมือง Los Angeles ผมถูกธรรมชาติและสภาพแวดล้อมบังคับให้เล่นกอล์ฟโดยการพึ่งพาตัวเองตลอด ไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆจากใครในขณะเล่นเพราะการเล่นที่นั่นไม่มีแค็ดดี้คอยบอกผมว่าพัตต์ซ้ายหรือขวา, ไม่มีใครคอยแบกถุงกอล์ฟและส่งไม้ให้ผม, ไม่มีใครมาบอกให้ผมรู้ว่ามีอุปสรรคดักอยู่ระยะใดบ้างจนกว่าจะเล่นบ่อยครั้งถึงจะจำได้และไม่มีใครคอยมาร์คลูกและเช็ดลูกให้เมื่อลูกอยู่บนกรีน ผมต้องทำเองแม้กระทั่งมารยาทในการโรยทรายกลบรอยไดวอทที่เกิดขึ้นจากการเล่นของผมเอง คนที่นั่นเขาเล่นกับแบบนี้จนรู้ว่าจะต้องทำอย่างไรโดยไม่มีแค็ดดี้ช่วย การเล่นแบบนี้ให้ผลดีอย่างหนึ่งคือ การรู้จักตัวเองว่า ความสามารถของตัวเองมีมากน้อยแค่ไหน ทำได้ดีแค่ใด การตัดสินใจด้วยตัวเองถูกต้องหรือผิดพลาดอย่างไร ทุกอย่างอยู่ที่ตัวผมเองทั้งสิ้น เมื่อเล่นจบผมก็จะมาทบทวนสิ่งที่ผิดพลาดโดยยอมรับแบบไม่มีข้อแก้ตัวใดๆทั้งสิ้น เพราะทุกสิ่งทุกอย่างล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นจากการเล่นและการตัดสินใจของผมเอง
เมื่อผมเดินทางกลับเมืองไทยในเมืองไทยมีแค็ดดี้ที่จะคอยช่วยเหลือในขณะเล่น แทบทุกอย่าง แค็ดดี้จะจัดการให้หมดแม้กระทั่งบอกไลน์บนกรีน ทำให้นักกอล์ฟหรือตัวผมเองมีเวลาที่จะสนุกกับเกมส์มากยิ่งขึ้น ผมเริ่มรับความช่วยเหลือจากแค็ดดี้มากจนแทบไม่ได้ทำอะไรนอกจากตีช็อต ซึ่งเข้าใจแค็ดดี้ว่าเขาทำตามหน้าที่ของเขาเพื่ออย่างน้อยถ้าเขาทำได้ไม่ขาดตกบกพร่องก็ถือว่าเขาทำหน้าที่ของเขาได้อย่างเต็มที่ร้อยเปอร์เซ็นต์ และมีโอกาสได้รับทิปเต็มตามความขยันของเขา 
ต่อมาผมเริ่มสังเกตว่าสกอร์จากการเล่นของผมเริ่มไม่ดีเหมือนที่อเมริกา ทั้งที่ยิ่งมีประสบการณ์การเล่นมากขึ้นก็น่าจะยิ่งดีขึ้น นั่งคิดทบทวนอยู่นานพบว่าเรื่อง “บนกรีน” ผมมีเปอร์เซ็นต์ผิดพลาดมากที่สุด ไม่ได้ผิดเพราะเทคนิคการพัตต์แต่อย่างใด แต่ผิดที่ “การอ่านกรีน” ไม่ถูกต้อง การอ่านกรีนมันเป็นทั้ง “ศาสตร์คือวิชาความรู้และเป็นทั้งศิลป์คือจินตนาการการคาดเดา” ล้วนแล้วแต่ต้องออกมาจากตัวนักกอล์ฟเองไม่ใช่แค็ดดี้บอก หากแค็ดดี้บอกว่า “พัตต์ขึ้นเนินไปทางซ้าย” แต่ตัวนักกอล์ฟเองรู้สึกว่า “ พัตต์ลงเนินไปทางขวา” เพียงเท่านี้การพัตต์ก็จะล้มเหลวตั้งแต่ยังไม่ได้พัตต์เลยเพราะคนที่พัตต์คือนักกอล์ฟ ตัวนักกอล์ฟเองจะต้องมีความรู้สึกว่า “ใช่, แน่นอน, ถูกต้อง, มั่นใจ” ถึงจะเริ่มพัตต์
ผมตัดสินใจย้อนกลับไปทำทุกอย่างบนกรีนเหมือนกับครั้งที่อยู่ในอเมริกา ไม่เอ่ยปากถามแค็ดดี้ก่อนพัตต์ ทุกอย่างบนกรีนจัดการเอง วางมาร์คเอง เก็บข้อมูลเอง อ่านเอง สังเกตเอง คำนวณเอง ตัดสินใจเอง พัตต์เอง ทำให้จิตใจไม่สับสน จะผิดหรือถูกอยู่ที่ประสบการณ์ในการอ่านกรีนของสนามนั้นๆ ไม่ว่าจะสนามใดในเมืองหรือภูเขาต่างจังหวัด ขอให้มีโอกาสได้เล่นซักครั้ง นักกอล์ฟเองก็จะรู้ ครั้งต่อไปก็จะคำนวณได้เองและยิ่งเล่นมากๆก็สามารถคำนวณได้เองโดยไม่ต้องมีประสบการณ์การเล่นในสนามนั้นมาก่อนก็ได้ เป็นที่น่าแปลกว่าหลังจากกลับมาคำนวณเองทำเอง เปอร์เซ็นต์เฉลี่ยมีผลงานการเล่นบนกรีนดีขึค้นมาก

ผมกล้ารับประกันหากวันนี้ถ้านักเรียนทุกท่านฝึกเล่นด้วยตัวเองทุกๆอย่าง อีกเดือน 2เดือนข้างหน้าท่านจะเล่นดีขึ้นแตกต่างจากวันนี้มาก ลองใช้รูปแบบการเล่นแบบผมดูบ้างซักครั้ง สองครั้งอาจจะทำให้ท่านรู้สึกว่าทำได้ดีขึ้นคือ ถึงแท่นทีบอกแค็ดดี้ว่า “ ขอเพียงบอกตำแหน่งอุปสรรค,จุดวางบอล (หมายถึงตำแหน่งเล็งหรือจุดที่จะให้ลูกไปตกก่อนขึ้นช้อตที่สอง) ,ส่งไม้,ส่งน้ำให้ทุกครั้งก่อนทีออฟทุกหลุม(นักกอล์ฟที่ดีควรจะดื่มน้ำก่อนทีออฟทุกหลุม อย่าปล่อยให้ร่างกายขาดน้ำแล้วค่อยดื่ม),หากแอพโพรชไม่ออน(ตีไม่ขึ้นกรีน)ขอให้ลากถุงไปใกล้ๆเพื่อเลือกเหล็กเล่นลูกสั้นแต่ถ้าออนให้ส่งพัตเตอร์ให้ทันที(เพราะแค็ดดี้จะได้ลากถุงไปไว้หลุมถัดไปหรือเตรียมตัวทำอย่างอื่นได้โดยไม่ต้องลากถุงตามเราไปแล้วค่อยส่งพัตเตอร์ให้) นอกเหนือจากนั้นผมจัดการทำเองหมดแม้กระทั่งการมาร์คลูก” 

"ไม่มีใครที่มองเห็นไลน์ของเราได้ดีกว่าสายตาเราเองเพราะสายตาของเราเมื่อเชื่อมกับสมองเราจะทำงานร่วมกันได้ดีที่สุด" 
Pro Eddie-มนตรี บูรณ์เจริญ
ThaiPGA Teaching Professional

 

วิธีควบคุมอารมณ์แบบง่ายๆโดยกำหนดจำนวนความผิดพลาดไว้ก่อนเล่น

หากจะให้คะแนน "ความยาก" ในการควบคุมอารมณ์ขณะเล่นกอล์ฟนั้นถือว่าเป็นความยากในระดับที่เรียกว่า "ยากมาก" หากเปรียบเทียบกับกีฬาอื่นๆเพราะกอล์ฟเป็นกีฬาที่ "ทำผิดพลาด" ได้ง่ายมากกว่า "ทำได้ดี" ลองนึกภาพว่ากอล์ฟเป็นกีฬาที่ใช้ไม้ก้านยาวๆ หัวเล็กๆ บางๆ ตีลูกกอล์ฟที่มีขนาดเล็กกว่าหน้าไม้ให้โดนดีๆ ไปไกลๆ ตกสู่เป้าหมายแม่นๆ ภายใต้สถานะการณ์ที่มีความกดดันสูงเพราะมีน้ำขวางหน้ามีป่ารายล้อมมีบ่อทรายเยอะมีคนรอดูความผิดพลาดของเราอยู่ตลอดเวลา ฯลฯ วันนี้เราลองมาเรียนรู้วิธีการควบคุมแบบง่ายๆ โดยวิธีการกำหนดจำนวนครั้งของความผิดพลาดไว้ก่อนที่จะเริ่มเล่น ดังนี้
#1 ให้เราทำใจยอมรับก่อนว่า กอล์ฟ คือ "กีฬาแห่งความผิดพลาด" The game of mistaking ทุกๆครั้งที่เราเล่นเราจะต้องมี "ความผิดพลาด" เกิดขึ้นแน่นอน ถ้าเราคิดได้อย่างนี้และยอมรับกับมันได้เราถึงจะไปเรียนรู้ขั้นต่อไป
#2 ให้เรากำหนดจำนวนความผิดพลาดของเราไว้ก่อนเล่นเช่น เราต้องเล่น 18 หลุมเราอาจจะกำหนดความผิดพลาดไว้ซัก 18 ครั้ง นี่คือจำนวนความผิดของเราในวันนี้นะครับหรือจะกำหนดไว้เท่าไรขอให้พิจารณาจากความสามารถตนเอง+ความยากของสนามและสถานะการณ์ในวันนั้น
#3 ให้เราพยายามทำให้ผิดพลาด "น้อยที่สุด" เท่าที่จะทำได้ ยิ่งน้อยกว่าที่กำหนดไว้ยิ่งดี
---------
วิธีการแบบนี้ช่วยเราได้อย่างไร? คำตอบคือขณะที่เราเล่นไปถ้าเราเริ่มตีเสียช็อตแรก ตอนนี้เกิดความผิดพลาดขึ้นแล้ว แน่นอนเราก็รู้สึกเสียใจแต่ความเสียใจจะไม่มากมายจนทำให้เราขาดสติเพราะเราทำผิดพลาดครั้งแรก ถือว่าเป็นครั้งที่1 แต่มันยังเหลือความผิดพลาดได้อีกตั้ง 17 ครั้ง ไม่เป็นไร เรายังมีสติและมีสมาธิเล่นได้ต่อไปอย่างรอบคอบ ถึงตรงนี้พอจะเข้าใจบ้างมั้ยครับว่าวิธีนี้ช่วยให้เรายังมีสมาธิควบคุมตัวเองให้ยังคงสามารถเล่นต่อไปได้อีกโดยที่ไม่เสียความรู้สึกมากจนทำให้เราสติแตก การกำหนดความผิดเป็นจำนวนครั้งไว้แบบนี้เป็นวิธีที่เขาทำกันมานานแล้ว เหมาะกับมือใหม่ๆ มือสมัครเล่นที่ไม่ค่อยได้ซ้อมมากนัก แม้กระทั่งโปรมืออาชีพเองเขาก็กำหนดไว้เช่นกันแต่จะกำหนดไว้แตกต่างจากมือสมัครเล่นเท่านั้นเองเช่น เขาคิดว่าวันนี้เขาจะพลาดได้เป็นหลุมๆ หลุมนี้ยากเอาแค่พาร์ หลุมหน้าง่ายเอาเบอร์ดี้ ประมาณนั้น อยากให้นักเรียนทุกๆท่านที่มีโอกาสออกรอบเล่นแล้วอารมณ์เสียบ่อยๆเพราะทำผิดพลาดบ่อย ลองมาฝึกใช้วิธีแบบนี้ดูบ้าง กำหนดไว้ซัก 18 ครั้งหรือจะน้อยจะมากกว่า 18 ก็ลองประเมินความสามารถตนเองดูว่าควรจะเท่าไร เชื่อว่ามันจะช่วยให้ทุกคน "รู้สึก" ดีขึ้นหลังจากเล่นจบลงนะครับ 

"ศรีษะนิ่งๆขณะสวิงช่วยให้กล้ามเนื้อส่วนที่อยู่รอบๆศรีษะเคลื่อนที่หรือแกว่งตัวได้แน่นอนมั่นคง ส่งผลให้เกิดความแม่นยำมากกว่าศรีษะเคลื่อนไปเคลื่อนมาในขณะสวิง" 
Pro Eddie-มนตรี บูรณ์เจริญ
ThaiPGA Teaching Professional

Visitors: 1,341,393